ในการทำเสาเข็มเจาะชนิดนี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ค่อนข้างเล็กไม่ยุ่งยาก เคลื่อนย้ายสะดวก ไม่ต้องการบริเวณทำงานมากนัก อุปกรณ์หลักประกอบด้วย ขาหยั่ง 3 ขา (TRIPOD) ปลอกเหล็กชั่วคราว (Temporary Casing) กระเช้าตักดิน (Bucket) ลูกตุ้ม (Cylindrical Hammer)และเครื่องกว้านลม(Air Winch) ซึ่งมีขั้นตอนการทำเสาเข็มเจาะดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. การจัดเครื่องมือเข้าศูนย์กลางเสาเข็มเจาะ ปรับตั้ง 3 ขา ให้ได้ตรงแนวศูนย์กลางของเสาเข็ม เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว จึงตอกหลักยึดปรับแท่นเครื่องมือให้แน่น แล้วใช้กระเช้าเจาะนำเป็นรูลึก (PRE – BORE) ประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
ขั้นตอนที่ 2. การตอกปลอกเหล็กชั่วคราว (CASING) ลงปลอกเหล็กตรงตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ โดยใช้สามขา (Tripod Rig) และใช้ลูกตุ้มตอกปลอกเหล็กที่มีความยาวท่อนละ 1.20 – 1.50 เมตร ลงดิน ปลอกเหล็กแต่ละท่อนจะต่อกันด้วยเกลียว ความยาวของปลอกเหล็กโดยรวมต้องเพียงพอที่จะป้องกันชั้นดินอ่อนพัง ในขณะลงปลอกเหล็กจะทำการตรวจวัดค่าความเบี่ยงเบนไม่ให้เข็มเจาะเอียง โดยปรกติในการปฏิบัติ ค่าความเบี่ยงเบนที่ยอมให้คือ – ความเบี่ยงเบนแนวราบ 5 เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มเดี่ยว – ความเบี่ยงเบนแนวราบ 7 เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มกลุ่ม – ความเบี่ยงเบนแนวดิ่ง 1 : 100
ขั้นตอนที่ 3. การเจาะและการใส่ Casing เมื่อตั้ง Tripod เข้าตรงศูนย์เข็มแล้ว ใช้ Bucket เจาะนำเป็นรูลึกประมาณ 1.50 ม.แล้วนำ Casing ซึ่งทำเป็นท่อนๆ ต่อกันด้วยเกลียวตอกลงไปในรูเจาะในแนวดิ่ง จนลึกถึงชั้นดินแข็งปานกลาง (Medium Clay) ที่พอเพียงที่จะป้องกันการพังทลายของชั้นดินอ่อนและน้ำใต้ดินไว้ได้ จากนั้นใช้ Bucket ขุดเจาะเอาดินออกจนถึงชั้นดินปนทราย ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานครมักจะอยู่ที่ความลึกประมาณ 18.0 -21.0 ม. (ขึ้นอยู่กับลักษณะทางธรณีวิทยาของแต่ละพื้นที่)